ช่วงนี้ราคาข้าวที่ชาวนาขายเข้าโรงสีตกต่ำกว่าแต่ก่อน เหตุเพราะตลาดค้าข้าวในต่างประเทศมีการแข่งขันกันด้านราคามากขึ้น ผู้ส่งออกข้าวของไทย รวมถึงโรงสีใหญ่ๆ จึงจำต้องกดราคาข้าวที่รับซื้อเข้ามา เพื่อให้ตนเองลดราคาขายออกไปได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนึ่งที่เราไม่ควรมองแบบเหมารวมเหมือนเมื่อครั้งที่รัฐบาลในอดีตรัฐบาลหนึ่งรับจำนำข้าวที่ราคาตันละ 15,000 บาท นะครับ กล่าวคือ ตอนนั้น ข้าวอะไรก็แล้วแต่ จะดี จะไม่ดี จะหอมมะลิ จะเสาไห้ จะเป็นข้าวคุณภาพต่ำ รัฐก็เหมาซื้อ 15,000 บาท หมด ส่วนตอนนี้ มีการพูดกันว่าราคาข้าวเหลือแค่ตันละ 4,500 บาท ก็ขออย่าให้เหมารวมว่าข้าวทุกชนิดซื้อขายกันที่ราคานี้ทั้งหมดนะครับ ยังมีอะไรที่เขาไม่ได้พูด และเราไม่รู้อีกครับ

แต่บทความนี้ เขียนขึ้นเพราะเพื่อนหลายคนถามผมว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไงในระยะยาว ผมจึงจะขอ focus ที่การรับรู้และการทำงานของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยใช้ประสบการณ์ที่ผมได้สัมผัสชาวนาบางส่วนมาบ้าง มาสะท้อนให้ได้อ่านกัน

เรื่องแรกที่อยากบอกก็คือ ชีวิตของชาวนา เจอกับนักขายมากกว่านักการเงิน ดังนั้นนักขายจะบอกวิธีเพิ่มรายได้ ด้วยการเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ แนะให้มีการใส่ปุ๋ย ใส่ยาฆ่าแมลง ใส่สารเคมีอื่นๆ เข้าไปในนา โดยเป้าหมายสำคัญคือการทำให้ได้ผลผลิตข้าวต่อไร่สูงสุด ส่วนชาวนาไม่มีโอกาสเจอกับนักการเงิน เลยไม่ค่อยมีใครมาเตือนว่าอย่าคิดแต่รายได้สูงสุดอย่างเดียว เพราะบางครั้งมันอาจทำให้เขาต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป จนทำให้กำไรน้อยลง หรือเปลี่ยนเป็นขาดทุนก็ได้ เราควรเรียกปัญหานี้ว่าอะไรดีล่ะ การศึกษาใช่มั้ย ท่านผู้อ่านช่วยสรุปให้ผมด้วยแล้วกันนะครับ

เรื่องต่อมา คือความที่คนไทยรักความสบาย หลายปีที่แล้ว บางคนคงจำได้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในวงการแบกข้าว กล่าวคือคนไทยไม่ยอมแบกกระสอบข้าวหนัก 100 ก.ก. อีกต่อไป ในขณะที่แรงงานที่เข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านยังคงทำได้อย่างเต็มใจ แรงงานของเราไม่ได้แข็งแรงน้อยกว่านะครับ แค่เราไม่ทำ… เจ๋งมั้ยล่ะ และความรักความสบายนี้ ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องการแบกข้าวเท่านั้น มันอยู่ในทุกหัวระแหงของการทำข้าว ตั้งแต่การเผานาแทนไถกลบตอซัง แต่กลับทำให้ต้องใช้ปุ๋ยมากเกินจำเป็น การจ้างรถไถมาไถนาเพื่อให้เสร็จเร็วๆ ในระหว่างการปลูกข้าว เดี๋ยวนี้ชาวนาใส่ยาคุมวัชพืช คุมหอย คุมแมลง คุมหนอน คุมหมด จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาดูในรายละเอียดว่ามีหนอนประเภทไหนมากินใบข้าว มีแมลงประเภทไหนมาลงต้นข้าวบ้าง และจะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่น ซึ่งอย่างอื่นที่ว่านี้ แล้วแต่การเลือกของแต่ละคนละ บางคนทำอาชีพเสริม บางคนเล่นการพนัน บางคนกินเหล้า บางคนติดยา บางคนดูทีวีเครื่องใหม่สวยหรูในบ้าน อันนี้แล้วแต่นะครับ พอถึงเวลาเกี่ยวข้าว ก็ไม่อยากเหนื่อย จ้างรถเกี่ยวข้าวมาเกี่ยวเลย ง่ายดี พอไม่เกี่ยวข้าวด้วยมือ ก็ไม่ได้วางข้าวที่เกี่ยวแล้วบนตอซังไว้ 3-4 แดดเพื่อให้มันแห้ง กลับนวดข้าวเลย แล้วยอมให้โรงสีหักค่าความชื้น รายได้ก็หายไปอีก การจ้างเพื่อทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น เหนื่อยน้อยลง เท่ากับเป็นการยกความเหนื่อยไปให้คนอื่น แน่นอน เขาต้องทำกำไรกับเราอยู่แล้ว การใช้เครื่องทุ่นแรงเพื่อให้ตัวเองสบายขึ้นก็เช่นกัน แบบนี้แหละ ไม่เรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งสองเรื่องที่กล่าวมา ทำให้ชาวนาต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่จำเป็น ส่วนใหญ่ต้องกู้หนี้ยืมสิน และเมื่อถึงเวลา ก็ต้องยอมขายข้าวถูกๆ เพื่อเอาเงินไปใช้หนี้

เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากเล่าให้ฟัง คือการเลือกผลิตสินค้าที่จะขาย เรื่องนี้หลายท่านที่ไม่สัมผัสชาวนาจะไม่ทราบนะครับ ชาวนาจะมีการเลือกปลูกข้าวอยู่ประมาณ 2 รูปแบบเป็นหลัก แบบแรก ตัวเองกินข้าวอะไร ก็ปลูกและขายข้าวนั้น ดังนั้นหากเขาชอบกินข้าวเหนียว ก็ปลูกข้าวเหนียว หากชอบกินข้าวเจ้าก็ปลูกข้าวเจ้า ทำให้ลืมนึกว่าจริงๆ แล้ว เขาควรปลูกอะไรเพื่อขาย ข้าวชนิดไหนที่ปลูกแล้วได้ราคา ดินของเขาควรปลูกข้าวอะไร การเลือกปลูกข้าวรูปแบบที่สอง คือเลือกปลูกข้าวที่ได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด เพราะต้องการรายได้มากที่สุด ในส่วนนี้ ชาวนาลืมนึกถึงราคา ข้าวแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน มีความต้องการไม่เท่ากัน มี supply ไม่เท่ากัน ราคาต่างกัน แต่เมื่อชาวนาทราบว่าข้าวชนิดใดชนิดหนึ่งให้ผลผลิตต่อไร่มาก ก็จะเลือกปลูกข้าวชนิดนั้นมากๆ พร้อมๆ กัน ผลผลิตออกมาพร้อมกัน ราคาก็ตก และทุกคนก็ลำบากพร้อมกันนั่นเอง มันเป็นเรื่องของอุปสงค์และอุปทานโดยตรง 

สามเรื่องที่สะท้อนออกมา แสดงสาเหตุบางอย่างที่ทำให้ชาวนาลำบากในปัจจุบัน บางครั้งดูที่รายได้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูที่รายจ่ายด้วย บางครั้งดูที่องค์รวมไม่ได้ ต้องดูที่รายละเอียดด้วย บางครั้งดูที่คนอื่นอย่างเดียวไม่ได้ ต้องกลับมาดูตัวเองด้วย หวังว่าบทความนี้คงช่วยให้หลายท่านที่ห่วงใยชาวนาได้เข้าใจมากขึ้น และฝากประชาสัมพันธ์เรื่องการพัฒนาตัวเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้แก่พวกเราชาวไทยทุกคนครับ

ด้วยความใส่ใจ
พัชร์ เคียงศิริ
11 พ.ย. 2559

ช่องทางติดต่อและสั่งซื้อผลิตภัณฑ์
Tel: 08 7365 3556
Line: https://line.me/R/ti/p/%40saijairice หรือ @saijairice
FB: www.facebook.com/messages/saijairice
Web: http://bit.ly/SAIJAIbrownjasminerice105
IG: saijairice